อาการ “โรคหัวใจ” แบบไหนต้องผ่าตัด

ปกติการรักษาโรคหัวใจจะแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ การใช้ยา การทำหัตถการพิเศษผ่านสายสวน และสุดท้ายคือ การผ่าตัด โดยปกติการใช้ยาถือเป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยทุกราย แต่ก็จะมีข้อจำกัดว่าถ้าเส้นเลือดตีบรุนแรง ตีบจำนวนหลายเส้น หรือ ผู้ป่วยมีอาการมาก ก็ไม่สามารถใช้ยาอย่างเดียวได้และต้องมาพิจารณาถึงหัตถการหรือการผ่าตัดเพิ่มเติม

การผ่าตัดหัวใจมีหลักการเป็นอย่างไร?
สำหรับการผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

การผ่าตัดเปิดแบบปกติ
ศัลยแพทย์จำเป็นต้องตัดแยกกระดูกหน้าอกออก เพื่อที่จะสามารถทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ซึ่งวิธีนี้คือ แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ ถือเป็นการผ่าตัดมาตรฐาน ข้อดีของวิธีนี้สามารถผ่าตัดหัวใจได้ทุกชนิด แต่มีข้อจำกัดคือ กระดูกจะต้องถูกตัด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดได้

การผ่าตัดแบบแผลเล็ก
ปัจจุบันมีการพัฒนาการผ่าตัดมากขึ้น เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กลงมาก แค่ 6-8 ซม. และมักจะอยู่บริเวณด้านข้างของผนังทรวงอก ทำให้ผู้ป่วยมีรอยแผลเป็นที่สวยงามมากขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก สามารถทำได้กับผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพเฉพาะ และไม่รุนแรงจนเกินไปเท่านั้น ประกอบกับยังต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญการ ทีมแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือครบ วิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็กจึงไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย ต้องให้ศัลยแพทย์เป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีการผ่าตัดเฉพาะให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย

การผ่าตัดหัวใจ มีวิธีอย่างไร?
การผ่าตัดหัวใจทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับโรคของคนไข้ ซึ่งโรคที่เราพบบ่อยในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 ก็คือ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจของคนไข้ได้ ซึ่งหลักการผ่าตัดคือ เราจะนำเส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำจากบริเวณอวัยวะอื่น เช่น ใต้กระดูกหน้าอก ขา หรือ แขน มาทำเป็นทางเบี่ยง เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหัวใจให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น

โรคกลุ่มที่ 2 คือ โรคลิ้นหัวใจ จะแบ่งได้เป็น ลิ้นหัวใจตีบ และ ลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งการผ่าตัดจะมี 2 วิธี คือ การซ่อมลิ้นหัวใจ และ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยปกติแล้วการซ่อมลิ้นหัวใจ เราถือว่าจะมีผลในการรักษาระยะยาวที่ดีกว่า จึงแนะนำเป็นทางเลือกแรกของการรักษา แต่ในบางกรณีศัลยแพทย์ก็ไม่สามารถซ่อมลิ้นหัวใจให้คนไข้ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจแทน

การเตรียมตัว เมื่อต้องผ่าตัดหัวใจ
ผู้ป่วยต้องเตรียมตัวทั้งทางร่างกาย คือ พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่ดี และรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง นอกจากนั้นผู้ป่วยยังต้องเตรียมตัวทางด้านจิตใจด้วย คือ การทำจิตใจให้สบาย ไม่จำเป็นต้องเครียด หรือ วิตกกังวล เนื่องจากการผ่าตัดหัวใจมีความปลอดภัยสูงและไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

การดูแลร่างกาย เมื่อผ่าตัดหัวใจ
หลังจากการผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรก คือ หลังผ่าตัดทันที ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 7 วัน โดยปกติหลังจากการผ่าตัดเสร็จ ภายใน 1-2 วันแรกคนไข้จะได้รับการรักษาอยู่ในห้องไอซียู หรือ หอผู้ป่วยวิกฤตหัวใจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดเพราะถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนก็สามารถที่จะรักษาและแก้ไขได้ทันที โดยในระยะเวลานี้คนไข้จะมีการใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ การใส่สายวัดความดันในหัวใจ สายสวนปัสสาวะ และ สายระบายเลือดที่ค้างจากการผ่าตัด เมื่ออาการผู้ป่วยคงที่ก็จะนำสายทั้งหมดออกและย้ายผู้ป่วยกลับหอผู้ป่วยปกติ เพื่อทำกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสมรรถนะของร่างกาย เมื่อผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้
ช่วงที่ 2 คือ หลังจากผู้ป่วยกลับบ้าน โดยปกติจะแนะนำให้มีคนช่วยดูแลผู้ป่วยอีก 1-2 สัปดาห์ที่บ้าน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ หลังจากการผ่าตัดเป็นระยะเวลา 1 เดือน และเมื่อถึงเวลา 3 เดือน ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ 100 เปอร์เซ็นต์
ความเสี่ยงในการผ่าตัดหัวใจ
ความเสี่ยงที่ผ่าตัดแล้ว จะเสียชีวิต หรือ ไม่ตื่น เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่มักจะกังวลอย่างมาก ก่อนที่จะมารับการผ่าตัดหัวใจ แต่ในความเป็นจริง การผ่าตัดหัวใจเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัยมาก ศัลยแพทย์จะประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาศัยการพิจารณาจากประวัติ โรคประจำตัว การตรวจร่างกาย และผลตรวจทางห้องปฎิบัติการ ซึ่งโดยปกติแล้ว ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เข้ามารับการผ่าตัด จะถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยจะมีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดเพียงแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น อัมพาต ไตวาย ปอดติดเชื้อ หรือ แผลติดเชื้อรุนแรง รวมกันไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น จะมีเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยที่อาจจะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดสูงกว่าปกติ ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่สูงอายุมากๆ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน

โดยศัลยแพทย์จะนำความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัด มาเปรียบเทียบกับความเสี่ยงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา แล้วนำมาปรึกษาร่วมกันพร้อมกับผู้ป่วยและญาติ เพื่อพิจารณาหาแนวทางการรักษาที่ดีสุดให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ

เนื้อหาจาก เมื่อไหร่ที่ต้องรักษา “โรคหัวใจ” ด้วยการผ่าตัด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า