ยาเคตามีน คืออะไร เสพติดแล้วเสี่ยงประสาทหลอน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจเฝ้าระวังการใช้คีตามีน หรือยาเค ที่ส่งตรวจโดยสถานีตำรวจในภาคตะวันออก พบมีการลักลอบนำคีตามีนบรรจุในขวดที่มีฉลากแปลกออกไป เช่น ฉลากระบุว่าเป็นคอนแทคเลนส์ น้ำยาละลายขี้หู เตือนนักท่องราตรี หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการทางจิต และเป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จนถึงขั้นต้องใส่กระเพาะปัสสาวะปลอม

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างกว้างขวางและรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นและนักท่องราตรีที่นิยมใช้ Club Drugs ซึ่งหมายถึงยาและสารเสพติดที่ใช้ในสถานบันเทิงที่มีการเต้นรำ มีการแพร่ระบาดตามเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว และแถบชายทะเลของประเทศ สำหรับประเทศไทย Club Drugs ที่ใช้ได้แก่ ยาอี (ecstacy) และคีตามีน (ketamine) เป็นส่วนใหญ่

คีตามีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มีข้อบ่งใช้ในทางการแพทย์เพื่อเป็นยาสลบ นอกจากนี้ยังใช้บรรเทาอาการหอบหืดในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตีบเรื้อรังใช้บรรเทาอาการปวดหลังเข้ารับการผ่าตัดและช่วยลดการใช้ยามอร์ฟีนใช้บำบัดอาการซึมเศร้าในโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น ปัจจุบันมีการผลิตคีตามีนรูปแบบยาผงสีขาวมาจำหน่าย โดยคีตามีนจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง เมื่อเสพเข้าไปจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม กระบวนการทางความคิด การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียงเปลี่ยนแปลงไป ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน หากใช้คีตามีนในปริมาณมากจะทำให้เกิดการกดการหายใจและหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการทางจิต ประสาทหลอน หูแว่ว กลายเป็นคนวิกลจริตได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า การใช้คีตามีนปริมาณมากจะทำให้เป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดแสบปวดร้อนเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ จนถึงขั้นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระเพาะปัสสาวะเพื่อใส่กระเพาะปัสสาวะปลอม

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันถึงแม้จะมีมาตรการทางกฎหมายออกมาควบคุมคีตามีนอย่างเข้มงวด แต่ยังพบว่ามีการนำคีตามีนไปใช้ในทางที่ผิดเพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของการใช้คีตามีนในทางที่ผิด จึงทำการศึกษาโดยการรวบรวมข้อมูลตัวอย่างคีตามีนที่ส่งตรวจวิเคราะห์จากสถานีตำรวจในภาคตะวันออกของปีงบประมาณ 2557–2560 จำนวน 87 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ผงละเอียดสีขาวจำนวน 64 ตัวอย่าง (73.6%) และของเหลวใสบรรจุในขวดยาฉีดแก้วปริมาตร 8-10 ml จำนวน 23 ตัวอย่าง (26.4%) ดำเนินการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ด้วยวิธี Thin Layer Chromatography (TLC) และตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารบริสุทธิ์ด้วยวิธี Gas Chromatography (GC) ผลการตรวจวิเคราะห์ ตรวจพบคีตามีน 85 ตัวอย่าง (97.7%) และมีความบริสุทธิ์ของคีตามีนอยู่ในช่วง 68.1–99.9%

นอกจากนี้ยังพบว่า ตัวอย่างสารละลายคีตามีนที่พบในปัจจุบัน มักจะบรรจุอยู่ในขวดที่มีฉลากที่แปลกไปจากเดิม เช่น ฉลากระบุว่าเป็นคอนแทคเลนส์ น้ำยาละลายขี้หู เป็นต้น เพื่อให้ง่ายแก่การลักลอบขนส่ง ขาย และนำไปใช้ในทางที่ผิด ข้อมูลนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

ข้อมูลต้นฉบับจาก https://www.sanook.com/health/9637/